ปลาโนรี

                              ปลาโนรี
ปลาโนรี ผีเสื้อบินได้ โดย ขวัญเรือน สุวรรณรัตน์
สวัสดีค่ะ ฉบับนี้พบกันในเรื่องของปลาสวยงามกันบ้างน่ะค่ะ ปลาสวยงามที่จะกล่าวถึงในบทความฉบับนี้ดิฉันเชื่อว่าหลายท่านที่ชอบใช้เวลาว่างหรือเทศกาลช่วงวันหยุดหลายๆวัน เที่ยวทะเล ดำน้ำดูปะการัง ต้องรู้จักและเคยเห็นปลาชนิดนี้แน่นอนค่ะ เพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีสีสันสดใส  ลวดลายสวยงาม ตัวขนาดเท่าฝ่ามือว่ายน้ำวนเวียนไปปลา เห็นแล้วอยากว่ายน้ำตามไม่อยากละสายตาออกจากปลาสวยงามชนิดนี้เลย
ปลาโนรี ผีเสื้อบินได้ โดย ขวัญเรือน สุวรรณรัตน์
ปลาสวยงามที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือปลา โนรี มีชื่อวิทยาศาสตร์ Heniochus acuminatus  ชื่อสามัญ Longfin Bannerfish พวกเขาอยู่ในครอบครัวปลาผีเสื้อ Chaetodontidae ปลาโนรีจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาสินสมุทร แต่การแยกชนิดปลาทั้งสองออกจากกันได้ง่ายๆ โดยสังเกตตรงที่ปลาสินสมุทรทุกตัวจะมีเงี่ยงใต้แก้มหรือบริเวณกระบังเหงือก ในขณะที่ปลาโนรีจะไม่มีเงี่ยงดังกล่าว
ปลาโนรีที่เราพบเห็นกันบ่อยตามแนวปะการังก็คือ ปลาโนรีครีบยาว (Longfin Bannerfish) ที่มีครีบหลังตั้งยาวโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ปลาโนรีครีบยาวนั้นเมื่อว่ายน้ำไปทางไหนก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนโดดเด่น ยิ่งเมื่อรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่นับร้อยตัวด้วยแล้ว เมื่อยามที่มันว่ายน้ำเคลื่อนขบวนไปทางไหนก็จะมองดูเหมือนธงทิวปลิวไสว ลำตัวสีขาวคาดดำสลับสีเหลืองสดใสเมื่อตัดกับสีฟ้าครามยิ่งดูงดงามสะดุดตา   
ปลาโนรีที่พบได้บ่อยอีกชนิดหนึ่งก็คือ ปลาโนรีครีบสั้น (Singular Bannerfish ) ซึ่งมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าโนรีครีบยาว แต่ครีบบนหลังสั้นกว่าและมีสีออกเหลืองเข้มกว่า แต่มีปริมาณน้อยและพบเห็นได้ยากกว่าปลาโนรีครีบยาว และอีกชนิดเป็นปลาโนรีหน้าหักหรือโนรีเขา (Phantom Bannerfish )ซึ่งมีเขาหรือนอแหลมยื่นออกมาบนหน้าผากเหนือดวงตา มีแต่ครีบแข็งตั้งบนหลัง ไม่มีครีบยาวยื่นออกมา ปลาโนรีชนิดนี้มีสีออกน้ำตาลคาดขาว ดำ และค่อนข้างจะหายากกว่าปลาโนรีทั้งสองชนิดข้างต้น
 ปลาโนรี ผีเสื้อบินได้ โดย ขวัญเรือน สุวรรณรัตน์
ปลาโนรีครีบสั้น กับปลาโนรีหน้าหักนั้น บางท่านอาจจะไม่นึกว่าเป็นปลาโนรี เพราะรูปร่างหน้าตาไม่ค่อยสวยงามเหมือนเช่นปลาโนรีครีบยาว ซ้ำยังชอบอาศัยอยู่ตามกองหินหรือแนวปะการังที่มีสภาพน้ำขุ่นกว่าปลาโนรีครีบยาว ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยกลับไปเข้าใจว่าปลาที่มีรูปร่างหน้าตาและมีสีสันเหมือนกับปลาโนรีครีบยาวและมักเข้าใจผิดว่ามันเป็นปลาโนรีเช่นกัน นั่นคือ ปลาผีเสื้อเทวรูป ซึ่งมีหน้าตา สีสันลวดลายบนลำตัวเหมือนปลาโนรีครีบยาวมาก แต่ปลาผีเสื้อเทวรูปก็ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มปลาโนรี ด้วยมีความแตกต่างกันตรงที่ปลาผีเสื้อเทวรูปจะมีผิวหนังละเอียดเป็นมันวาว ลักษณะใกล้เคียงกับปลาขี้ตังเบ็ดฟ้า ในขณะที่ปลาโนรีครีบยาวจะมีเกล็ดที่มองเห็นได้ชัดเจนกว่า
เราจะพบปลาโนรีได้ตามกองหิน หรือแนวปะการังในระดับความลึกตั้งแต่ 2-70 เมตร ปลาโนรีชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่ใสสะอาด และเป็นปลาที่ชอบว่ายอยู่กลางน้ำ หรือว่ายอยู่เหนือแนวปะการัง ไม่ชอบว่ายซอกซอนไปตามแนวปะการังเหมือนปลาผีเสื้อชนิดอื่นๆ ปลาโนรีที่รวมฝูงมักจะชอบว่ายเวียนตามกันไป บางครั้งเมื่อตัวหนึ่งว่ายเข้าไปติดในลอบที่ชาวประมงดักไว้ พรรคพวกที่เหลือก็มักจะว่ายตามเข้าไปติดลอบกันทั้งฝูง แต่ชาวประมงที่วางลอบส่วนใหญ่ก็จะเน้นดักปลาที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ ดังนั้นเมื่อกู้ลอบติดปลาโนรีขึ้นมาก็มักจะจับโยนทิ้งให้แห้งตายโดยไม่ได้นำไปทำประโยชน์อะไร
ด้วยสีสันและรูปทรงที่สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ปลาโนรีจึงมักถูกจับขึ้นมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ ตามบ้านเรือนหรือเลี้ยงไว้โชว์ในอควาเรียม แต่ปลาชนิดนี้ก็ชอบใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติ มันต้องการอาณาเขตของการว่ายเวียนหากินในผืนน้ำกว้าง และชอบหากินอาหารอันหลากหลายตั้งแต่โพลิบของปะการัง กุ้งปลาขนาดเล็ก ไปจนถึงแมงกะพรุนที่ล่องลอยอยู่กลางน้ำ เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้โอกาสรอดชีวิตจึงแทบไม่มี ทางที่ดีจึงควรปล่อยให้ปลาสวยงามเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างเสรีในท้องทะเลกว้าง เมื่อคิดถึงจึงค่อยแวะมาดำลงไปชื่นชมจะดีกว่า

ที่มาhttp://www.nicaonline.com/web/index.php/2016-08-30-02-19-31/2016-08-30-14-11-38/58-2016-09-02-02-32-29

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปลาตะเพียนทอง

ปลาหมอบัตเตอร์

ปลาตะเพียนขาว