ปลาม้า
ปลาม้า
หลังจากที่สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยปลาม้า ซึ่งเป็นปลาพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของ จ.สุพรรณบุรี ที่เนื้อมีรสชาติอร่อย และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคให้กับกรมประมง วิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการผลิตปลาม้าเชิงพาณิชย์ โดยมี ดร.กาญจนรี พงษ์ฉวี จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุพรรณบุรี เป็นหัวหน้ากลุ่ม ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถผลิตลูกปลาม้าให้มีปริมาณที่เพียงพอที่จะส่งเสริมให้นำไปเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก.บอกว่า การพัฒนาเทคโนโลยีระบบการผลิตปลาม้าเชิงพาณิชย์ การศึกษาชีววิทยาการสืบพันธุ์ การกินอาหาร โดยมีการรศึกษาวิจัย เปรียบเสมือนนักวิจัยนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงเพื่อให้เป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งเรื่องที่ยากคือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของปลา เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อจับมาเลี้ยงไว้ในบ่อ แล้วปลากินอาหารที่เราจัดหามา จึงต้องมีการศึกษาวิจัย เพื่อหาวิธีจัดการให้ปลากินอาหารตามที่ต้องการ ขณะนี้ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของนักวิจัยที่สามารถเพาะเลี้ยงปลาม้า ที่เกือบจะสูญพันธุ์ให้มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบการหมุนเวียนของน้ำในการดูแลสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับปลาด้วย
“งานวิจัยทั้งหมด เป็นงานวิจัยที่ดีทำได้ทั้งในเชิงอนุรักษ์ และการพาณิชย์การจะทำให้งานวิจัยเกิดประโยชน์ได้จริงส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่อนุรักษ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่า สร้างประเทศทดแทนไปด้วย และหากไม่มีการเพาะเลี้ยง วิจัยพัฒนาประมง ในอนาคตเราอาจจะไม่มีปลาเหล่าไว้รับประทาน ฉะนั้น มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการศึกษาวิจัย เพาะเลี้ยงประมงเพื่อทดแทนที่ถูกทำลายไป ทาง สวก.จึงได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการวิจัยและพัฒนา โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุพรรณบุรี เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อไป\” รศ.ดร.พีรเดช กล่าว
ด้าน ดร.กาญจนรี พงษ์ฉวี หัวหน้ากลุ่มวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการผลิตปลาม้าเชิงพาณิชย์ เล่าว่าปลาม้า เป็นปลาพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อมีรสชาติอร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยปลาม้าขนาดตัวละราว 3 กก.มีราคาสูงถึง กก.ละ 250 บาท นับเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีอนาคตสดใส แต่ด้วยปัจจุบันในแหล่งน้ำธรรมชาติมีปลาม้าเหลืออยู่น้อยมากเนื่องจากการจับและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แม้ปลาม้าจะวางไข่ตลอดปีและการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จะทำในวิธีธรรมชาติได้ แต่การอนุบาลลูกปลาม้ายังประสบปัญหาเนื่องจากลูกปลามีอัตราการรอดต่ำและขาดแคลนอาหารที่เหมาะสมด้วย และจากการที่ทีมวิจัยได้เริ่มฟักปลาม้า พบว่าปลาม้าจะเริ่มฟักออกจากไข่ในอายุ 15วัน และต้องเลี้ยงไปอีก 150 วัน จึงจะสามารถเอาไปปล่อยในน้ำได้ ซึ่งปลาม้าที่ชาวประมงจับได้อยู่ในตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็จะเป็นปลาม้าที่กรมประมงนำไปปล่อย ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนการขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ มีความจำเป็นอย่างมาก
“การวิจัยที่ทาง สวก.สนับสนุนเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการผลิตปลาม้าเชิงพาณิชย์ มีระบบโรงเพาะฟักแบบหมุนเวียนสำหรับเพาะขยายพันธุ์ มีระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อปรับเสถียร ซึ่งระบบเหล่านี้จะทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาม้าเพื่อการจำหน่า มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และสามารถผลิตลูกปลาม้าให้มีปริมาณที่เพียงพอที่จะส่งเสริมให้นำไปเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้”ดร.กาญจนรี กล่าวอย่างมั่นใจ
ก็นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวก.ที่จะทำให้เกษตรกรที่สนใจในการที่เลี้ยงปลาม้าในเชิงพาณิชย์ได้มีทางเลือกใหม่ในอนาคต
ก็นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวก.ที่จะทำให้เกษตรกรที่สนใจในการที่เลี้ยงปลาม้าในเชิงพาณิชย์ได้มีทางเลือกใหม่ในอนาคต
ที่มาhttp://www.thaiagrinews.org/fishing/article_162
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น