ปลาตุม

ปลาตุม
ทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีความมหัศจรรย์ เนื่องจากมีความแตกต่างทางกายภาพ ตั้งแต่น้ำเค็ม กร่อย และน้ำจืด ในแหล่งเดียวกัน ทำให้เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศน์ ส่งผลให้ทรัพยากรฯ อุดมสมบูรณ์ ด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้ชาวประมงในทะเลสาบสงขลา จึงตักตวงหาอยู่หากินสืบสานกันมาในคาบเวลาอันยาวนาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ทะเลสาบสงขลาวันนี้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม และธรรมชาติล่มสลายถูกทำลายด้วยการบุกรุกของมนุษย์ พืชพรรณ และสัตว์น้ำรวมไปถึงปลาพื้นเมืองหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ หรือมีอยู่แต่กลายเป็นของหายาก เช่น ปลาตุ่ม ปลาพรหม ปลากระเบน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น  เพราะฉะนั้นบทความฉบับนี้ ขอนำเสนอ ปลาชนิดหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อและมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบพันธุ์ปลาหายาก          ด้วยการกระทำของฝีมือมนุษย์จนมันเกือบจะต้องสูญพันธุ์ในเร็วๆวันนี้ก็เป็นไปได้ หากแต่มนุษย์ยังเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว การตักตวงโดยไม่ได้คิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาตินั่นเอง ปลาที่ขอกล่าวถึงก็คือ...ปลาตุมค่ะ
ปลาตุม หรือ ปลาตุ่ม (อังกฤษ: Bulu barb; ชื่อวิทยาศาสตร์: Puntioplites buluเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีรูปร่างเหมือนปลากระมัง คือ มีลำตัวเกือบเป็นรูปขนมเปียกปูน หัวและลำตัวแบนข้าง นัยน์ตาโตและค่อนไปทางด้านบน คริบหลังสูง ไม่มีหนวด ครีบหางเว้าลึก เกล็ดสีเงิน แต่ปลาตุ่มจะต่างจากปลากระมัง คือ ปลาตุ่มจะมีเกล็ดสีขาว เว้นแต่ก้านครีบก้นไม่มีรอยหยัก เกล็ดเล็กกว่า เมื่อสะท้อนแสงจะมีสีขาวเงินและลำตัวมีรอยขีดสีคล้ำตามขวางประมาณ 7-8 รอย และก้านครีบก้นอันใหญ่สุดมีขอบเรียบ กระโดงหลังจะสูง ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร อาหาร จะเป็นพวกแมลง สัตว์หน้าดิน และพืชน้ำ
เป็นปลาที่พบได้น้อย โดยจะพบแต่เฉพาะภาคใต้เท่านั้น  สามารถพบชุกชุมที่ทะเลสาบสงขลาตอนในที่เป็นส่วนของน้ำจืด เพื่อความชัดเจนว่าปลาชนิดนี้พบได้น้อยและสามารถพบได้ที่ทะเลสาบสงขลา จริงเท็จหรือไม่นั้น ทางสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา โดยทีมงานสำรวจสัตว์น้ำ ได้ลงพื้นที่สำรวจโดยมุ่งเป้าไปที่ทะเลสาบสงขลาบริเวณที่เป็นน้ำจืดในเขต จังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช พบว่าปลาชนิดนี้เริ่มที่จะหายากและใกล้สูญพันธุ์จริงๆ ลงพื้นที่สำรวจหลายจุด และได้สอบถามชาวประมงแม่ค้าแม่ขายหลายๆคน ไม่มีใครพบเห็นปลาตุ่มเลย แต่ถือว่าโชคดีค่ะ แปลกแต่จริงที่ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช  แหล่งเดียวที่ปลาตุ่มยังคงมีทั้งชื่อและชีวิต ไม่ใช่แค่รูปภาพเหมือนที่อื่นๆ แต่ก็นั้นแหละ ถึงแม้จะพบตัวปลาตุ่ม ก็ใช่ว่าจะได้เห็นบ่อยๆ เพราะปลาตุ่มพบได้เฉพาะฤดูน้ำหลากเท่านั้นค่ะ ถ้าใครชอบปลาตุ่ม รักปลาตุ่ม หรืออยากประทานปลาตุ่ม ช่วงเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน ในฤดูน้ำหลากถึงจะได้สมหวัง สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ได้ความมาว่า ปลาตุ่มถ้าเปรียบกับผู้หญิงสมัยก่อน คงจะเป็นประเภทแม่ศรีเรือนอะไรประมาณนั้น เพราะอยู่กะเย้าเฝ้ากับเรือนไม่ค่อยได้ออกไปไหน ปลาตุ่มมักจะอยู่ประจำที่บริเวณลำคลองชะอวด ซึ่งยากต่อการประมงคล้ายๆกับปลาท่องเที่ยวนั้นแหละ คือออกมาเฉพาะในช่วงฤดูฝนนั้นเอง ถึงแม้จะจับได้ในช่วงฤดูฝนก็ใช่ว่าจะจับได้เยอะ ประมาณ 30 กก. ต่อวันในตลาดชะอวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปริมาณปลาตุ่มเริ่มลดลงและใกล้สูญพันธุ์จริงๆ
แต่เหมือนเช่นเคยค่ะ ในทะเลสาบสงขลามักจะมีพระเอกคอยขี่ม้าขาวมาช่วยเสมอ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดพัทลุง ได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้เป็นผลสำเร็จ และในเวลาอันใกล้นี้ทางศูนย์จะดำเนินการปล่อยพันธุ์ลูกปลาตุ่มคืนสู่ทะเลสาบสงขลา เพื่อที่จะให้ลูกปลาตุ่มโตและแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป 
ถึงจะมีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย แต่การที่จะทำให้ปลาตุ่มไม่สูญพันธุ์และอยู่คู่กับทะเลสาบสงขลาตลอดไป ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกค่ะ พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน พวกเราทุกคนนี่แหละค่ะ คือ พระเอกและนางเอกตัวจริง 
ขอขอบคุณ คุณป้าน้าว สุขนิสา หมู่ 1 ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และชาวบ้าน ตำบลชะอวด ทุกท่านมากค่ะ สำหรับข้อมูล ปลาตุ่มและไมตรีจิตที่ดีสำหรับทีมงานสำรวจสัตว์น้ำของสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา ขอบคุณค่ะ....
ที่มาhttp://www.nicaonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1560:2015-02-13-09-01-29&catid=40:2012-02-20-02-59-34&Itemid=122

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปลาตะเพียนทอง

ปลาตะเพียนขาว

ปลาหมอบัตเตอร์