ปลาชะโด

เลี้ยงปลาชะโดควบคู่การประมงงานลงตัวครอบครัวลุงสมควร
โดยจำนง ถีราวุฒิ
ไชโย ไชโย, ฮา ฮา ฮา, ว๊าว ท่านเชื่อมั้ยครับว่าในทะเลสาบ ณ เวลานี้คำอุทานเหล่านี้ ช่างหาฟังได้ยากเหลือเกินจากชาวประมง บางช่วงตอนก็ยิ้มออกได้บ้างเพราะกรมประมงคอยเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจคอนปล่อยกุ้งปล่อยปลา แต่นั้นก็เป็นเพียงการให้ยาที่ช่วยประคับประคองไม่ให้ผู้ป่วยหนักอย่างทะเลสาบสงขลาต้องสูญสิ้นเท่านั้นเองแล้วอะไรล่ะที่เป็นเสมือนวัคซีนที่คอยคุ้มกันทะเลสาบสงขลาให้มีความแข็งแรงมั่นคงยั่งยืน
          บทความฉบับนี้ผมขอแนะนำชาวประมงท่านหนึ่งครับที่น่าจะเป็นต้นแบบและเป็นต้นแบบและเป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่ช่วยให้ทะเลสาบสงขลามีความแข็งแรงมั่นคงและยั่งยืน ท่านผู้นั้นคือ คุณสมควร สุวรรณรัศมี สามารถอยู่ได้ท่ามกลางสภาวะขาดแคลนของทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา เอ๊ะ เขาทำอะไร แล้วทำไมเขาถึงอยู่ได้ บทความฉบับนี้มีคำตอบครับ
          คุณ สมควร สุวรรณรัศมี ประกอบอาชีพทำการประมงควบคู่กับการเลี้ยงปลาชะโด ด้วยการพกพาเคล็ดลับสำหรับความสำเร็จที่ไม่เคยปกปิดใครอยู่ 3 ประการ
          1. เลี้ยงปลาชะโดให้ได้กำไรนั้น ต้องลดต้นทุนค่าอาหารและค่าลูกพันธุ์ให้ได้
          2. ขจัดความคิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา
          3. ไม่เบียดเบียนทะเลสาบ อาหารที่นำมาเป็นอาหารของปลาชะโดต้องเป็นปลาที่ได้ขนาดไม่ใช่ปลาเล้กปลาน้อย
  

แค่นี้ผมก็พอจะทราบแล้วล่ะครับว่าทำไม คุณสมควร ถึงประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพการประมง เริ่มต้นจากการหาลูกพันธุ์ปลาชะโดมาเลี้ยงเองไม่ต้องไปซื้อไหนหาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แล้วนำมาอนุบาลไว้ก่อนในบ่อซีเมนต์อายุลูกปลาที่ได้ส่วนใหญ่อายุประมาณ 20 – 30 วัน อนุบาลต่อ 1 – 2 เดือนอาหารที่ให้ในช่วงนี้เป็นปลาหัวโม่งสับละเอียดให้วันล่ะ 2 ครั้ง เห็นครับเริ่มต้นตั้งแต่ลูกพันธุ์ก็หาเอง อาหารปลาหัวโม่งก็หาเอง อย่างนี้ก็มีแต่ได้กับได้แหละครับ คุณสมควร บอกต่อว่า ถึงแม้จะใช้อาหารจากทะเลสาบสงขลาแต่ก็ไม่เคยที่จะเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ ปลาที่นำมาใช้เป็นอาหารของปลาชะโดก็เป็นปลาที่ได้ขนาดไม่ได้จับปลาเล็กปลาน้อยวันไหนออกเรือจับปลาเหยื่อไม่ได้ก็ยอมสั่งซื้อปลาเหยื่อจากสตูล ยังดีกว่าจับปลาเล็กปลาน้อยเพื่อมาเป็นอาหารปลาชะโด ขอปรบมือดัง ๆ และชื่นชมในความคิดนะครับคุณสมควร

          การเลี้ยงในบ่อดินหลังจากที่อนุบาลลูกปลาจนได้ขนาดที่เหมาะสม 3 – 4 นิ้ว แล้วก็นำมาเลี้ยงต่อในบ่อดิน เนื่องจากปลาชะโดเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว อดทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ฉะนั้นคุณสมควรบอกว่าในบ่อเลี้ยงมีสภาพเป็นบ่อเก่ามีน้ำขังอยู่แล้วในบ่อจึงมีลูกปลาเล็ก ๆ ก็สามารถเป็นอาหารธรรมชาติของปลาชะโดได้เลย ไม่ต้องปรับสภาพบ่อมากนักสามารถปล่อยพันธุ์ปลาชะโดที่อนุบาลไว้ในบ่อซีเมนต์ได้เลย

          อัตราการปล่อย เลี้ยงไม่ต้องหนาแน่นมากสำหรับการเลี้ยงที่ไม่มีบ่อพักน้ำหรือบ่อที่ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ 3000 – 5000 ตัวต่อไร่ก็เพียงพอสำหรับปลาชะโด

          อาหาร อาหารที่ให้เป็นปลาสับโดยสับให้มีขนาดที่เหมาะสมกับขนาดตัวปลา ช่วงนี้ปลาชะโดจะโตเร็วมาก อายุปลา 7 – 8 เดือน จะมีน้ำหนักเกือบกิโลหรือกิโลกว่า ๆ ก็มี

          ผมสัมภาษณ์ไปวิเคราะห์ไป เออ! แสดงว่าปลาชะโดเป็นปลาเศรษฐกิจที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกได้เช่นกันน่าสนใจเสียด้วยนี่ขนาดว่าคุณสมควรเลี้ยงตามประสาชาวบ้านแหละครับ การจัดการเรื่องบ่อเรื่องน้ำไม่มี แต่ก็สามารถเลี้ยงชะโดประสบความสำเร็จได้เช่นกัน หากท่านผู้ใดคิดอยากจะเลี้ยงปลาชะโดอย่างจริง ๆ จัง ๆ นำหลักวิชาการมาประยุกต์ใช้บ้างก็น่าจะทำให้การเลี้ยงปลาชะโดมีประสิทธิภาพซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จยิ่งขึ้น

          การตลาด ส่วนเรื่องการตลาดไม่ต้องเป็นห่วงมีมากแค่ไหนพ่อค้าแม่ค้าก็รับหมดยกบ่อกันเลยครับเพราะตอนนี้บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลามีคนเลี้ยงปลาชะโดประมาณ 20 ราย ผลผลิตจึงไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของตลาดพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่มาจาก จ.นครศรีธรรมราช มารับซื่อยกบ่อกิโลกรัมละ 60 บาท บ่อขนาด 0.5 ไร่ จับได้ 1,800 – 2,000 กก. ได้กำไรต่อบ่อประมาณ 70,000 – 80,000 บาท เหลือจากหักค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารโดยเฉพาะปลาเป็ดที่สั่งเข้ามาในกรณีที่หาปลาจากทะเลสาบไม่ได้

          ดูราคาแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนที่คุณสมควรลงทุนนั้นยังถือว่าได้กำไรเยอะเลยครับ สำหรับท่านที่อยากจะเลี้ยงปลาชะโดเป็นอาชีพหลักก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ ตามที่อยู่นี้เลย

          คุณสมควร สุวรรณรัศมี ม.4 ต.คูจุด อ.สะทิ้งพระ จ.สงขลา

          ผมขอฝากข้อคิดสำหรับท่านที่คิดอยากจะเลี้ยงปลาชะโดตามแนวทางของคุณสมควรสักนิดนะครับโดยเฉพาะที่เลี้ยงอยู่บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา การเลี้ยงปลาชะโดนั้นเลี้ยงอย่างไรก็ไม่ยากเพราะปลาชะโดเป็นปลาที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมแต่การเลี้ยงปลาชะโดควบคู่กับการเพิ่มวัคซีนให้กับทะเลสาบสงขลาด้วยนี้สิครับยากกว่า แต่ผมเชื่อนะครับว่าชาวประมงส่วนใหญ่ไม่ทำลายทะเลสาบสงขลาด้วยการจับปลาเล็กปลาน้อยเพื่อที่จะนำมาเป็นปลาเหงื่อของปลาชะโด ลดต้นทุนใช่ครับโอกาสคือกำไร แต่ลดต้นทุนแล้วธรรมชาติขาดดุล ผมถามคุณสักนิดเถอะครับ มันยั่งยืนมั้ยครับกับคำว่ากำไร

ที่มาhttp://www.nicaonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1541:2014-08-18-04-42-30&catid=36:2012-02-20-02-57-45&Itemid=116

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปลาตะเพียนทอง

ปลาหมอบัตเตอร์

ปลาตะเพียนขาว