ปลาฝา หรือ ตะพาบน้ำ
ปลาฝา หรือ ตะพาบน้ำ
หากใครได้เดินทางผ่านหรือเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เมื่อขับรถพ้นจากอำเภอศรีประจันต์เข้าสู่อำเภอสามชุก มองสองข้างทางหลวง หมายเลข 340 มีร้านค้าเล็กๆ ตั้งขายเนื้อตะพาบน้ำสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่าเนื้อตะพาบน้ำคนขายหามาจากที่ไหน ซึ่งสมัยนี้มีการเลี้ยงกันมากขึ้นเพื่อไม่รบกวนกับตะพาบน้ำที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ
คุณปัทมา คงสำราญ อยู่บ้านเลขที่ 138/3 หมู่ที่ 3 ตำบลวังลึก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เลี้ยงตะพาบน้ำเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดี
ทำนา ทำสวน เปลี่ยนมาเลี้ยงตะพาบ สร้างรายได้
คุณปัทมา เล่าให้ฟังว่า เดิมทีทำไร่ทำสวนและได้นำผลผลิตขายตามตลาดเช้า จึงทำให้ได้รู้จักกับเกษตรกรรายหนึ่งซึ่งได้เลี้ยงตะพาบน้ำมาก่อน ทำให้คุณพ่อและคุณแม่ของคุณปัทมา เกิดความสนใจในการเลี้ยงตะพาบน้ำ จึงได้ไปศึกษากับเกษตรกรรายดังกล่าวที่มาแนะนำ ซึ่งตะพาบน้ำที่นำมาเลี้ยงเป็นตะพาบพันธุ์ไต้หวัน เหตุที่ไม่สามารถนำตะพาบน้ำพันธุ์ไทยมาเลี้ยงได้ เนื่องจากตะพาบน้ำพันธุ์ไทย ยังถือว่าเป็นพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้รับการคุ้มครอง จึงได้นำลูกตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวันมาเลี้ยงแบบระบบเนื้อมาปล่อยลงบ่อ
“ตะพาบเลี้ยงเนื้อ เราไม่ต้องจัดการอะไรมาก เพราะว่าตลาดที่เราต้องการส่ง มันมีอยู่แล้ว เป็นของที่ตลาดต้องการ ช่วงที่ตลาดต้องการ ตอนที่เริ่มทำ เมื่อปี 2538 เรียกได้ว่า ทำมาเกือบ 20 ปี แล้ว” คุณปัทมา กล่าว
การเลี้ยงตะพาบน้ำ มีขั้นตอนดังนี้
ตะพาบน้ำที่นำมาเลี้ยงครั้งแรก คุณปัทมา เล่าว่า มีจำนวน 2,000 ตัว ปล่อยลงในบ่อดิน ขนาด 15x20 เมตร ใส่น้ำให้มีระดับ 80 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร
“ในปีแรกๆ ที่ทำจะใช้บ่อดิน เพราะเป็นการประหยัดต้นทุน เมื่อฟาร์มมีขนาดใหญ่ขึ้นก็เริ่มทำบ่อปูน การทำบ่อปูน จะขุดให้ได้ระดับราดเอียงที่ 45 องศา แต่ขอบบ่อ ควรมีกระเบื้องสูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร เพื่อกันตะพาบออกจากบ่อ” คุณปัทมา เล่าถึงวิธีการเตรียมบ่อ
อาหารที่ให้ตะพาบน้ำกินจะเป็นปลาบด อาหารหมู อาหารปลาดุก ผสมกับข้าว ทำให้ลดต้นทุน เพราะข้าวที่นำมาเป็นส่วนผสม
“การให้อาหารที่ดี ควรวางด้านใดด้านหนึ่งของบ่อ หรือด้านที่วิดน้ำออก และให้พ้นจากผิวน้ำ 1-2 เซนติเมตร คอยสังเกตดู ซึ่งตะพาบจะกินอาหารหมดภายใน 2-3 ชั่วโมง ถ้าหมดก่อนเวลาที่กำหนด ควรเพิ่มอาหาร หรือหมดหลังจาก 3 ชั่วโมง ควรลดปริมาณอาหารลง มิเช่นนั้นน้ำในบ่อ อาจเกิดการเน่าเสียจากอาหารที่ให้มากไปเกินความจำเป็น” คุณปัทมา กล่าว
การป้องกันโรค ในช่วงฤดูฝนจะมีการใช้สารปฏิชีวนะหลายตัว เพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดกับตะพาบน้ำ การใช้แต่ละครั้งก็จะดูความเหมาะสมของฤดูกาล ยาที่ให้จะมีทั้งผสมกับอาหารให้ตะพาบน้ำกิน และสาดลงบ่อ อาจเรียกได้ว่าเป็นความชำนาญของเจ้าของฟาร์มที่จะต้องรู้โดยประสบการณ์ ว่าแต่ละช่วงควรดูแลอย่างไร
“ช่วงต้นฤดูฝนตะพาบ จะมีอาการอ่อนแอ พอเรารู้ว่าช่วงฝนจะมา เราอาจจะต้องให้ยากันไว้ก่อน โดยให้อาทิตย์เว้นอาทิตย์ และช่วงที่น่าเป็นห่วงอีกที ก็ช่วงปลายฤดูหนาวจะเกิดโรคที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ช่วงฤดูหนาวถ้าอากาศหนาวตะพาบจะเจริญเติบโตช้า เนื่องจากกินอาหารได้น้อยลง เมื่อเติบโตช้าทำให้แบคทีเรียเข้าไปได้ง่าย อาจทำให้ตะพาบอ่อนแอและตายได้” คุณปัทมา อธิบายถึงการเกิดโรคในแต่ละฤดูกาล
ราคา ถูก-แพง ขึ้นอยู่ที่ขนาดตัว
คุณปัทมา บอกว่า ขนาดไซซ์ของตะพาบน้ำที่ตลาดต้องการ อยู่ที่อายุประมาณเกือบ 8 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 800 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม ต่อตัว ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 220 บาท ซึ่งราคาจะแพงไปตามขนาดไซซ์ ยิ่งตะพาบน้ำมีขนาดใหญ่ ราคาก็จะยิ่งแพง ถ้ามีขนาด 1.5 กิโลกรัม ขึ้นไป จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 320 บาท
“จะไม่ค่อยได้จับขายหน้าฟาร์ม เพราะการที่ลงไปจับในบ่อ หรือไปกวนตะพาบอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ จะทำให้เกิดโรคตามมา ซึ่งส่วนใหญ่จะวิดน้ำทั้งบ่อ แล้วจับตะพาบขายทีเดียว เมื่ออายุครบกำหนดตามที่ต้องการของคนที่มารับซื้อ” คุณปัทมา กล่าว
ต้องทำด้วยใจรัก จึงจะได้ความสำเร็จ
สำหรับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงตะพาบน้ำเพื่อเป็นอาชีพ คุณปัทมา แนะนำว่า “ใครที่อยากเลี้ยง ควรที่จะมีใจรัก ศึกษาหาข้อมูลก่อน เพราะบางทียังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาให้รอบครอบ บางทีเราอาจคิดว่าเราทำได้ แต่ที่จริงอาจมีอะไรที่มากกว่านั้น ผู้ที่มีปัญหาต่างๆ ก็สามารถติดต่อมาที่เราได้ ทางฟาร์มยินดีให้คำแนะนำ ทางด้านการเลี้ยง การให้อาหาร การตลาด”
ที่มาhttps://www.technologychaoban.com/fishery-technology/article_885
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น